ก่อนอื่นผมขออนุญาตที่จะเพิ่มเติมหัวข้อ ที่ทางคณะกรรมการองค์การบริหารนักศึกษา (มุสลิมะฮฺ) ได้ตั้งไว้ว่า “มอย” หรือ “มอย.วันนี้” มาเป็น “มอย.วันนี้กับการวางแผนชีวิต” เพราะผมคิดว่า มหาวิทยาลัยอิสลามยะลานั้น เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับปัญญาชนมุสลิมอย่างเราที่จะใช้เป็นเวทีสำหรับการวางแผนชีวิตเพื่ออนาคตที่ดี (สำหรับตัวเราและสังคมแห่งนี้) ที่นี่เป็นเวทีที่เหมาะสมอย่างมากที่จะทำตัวเราให้บริสุทธิ์ เพื่อที่จะสร้างโอกาสให้แก่ตัวเราในการที่จะเป็นเทียนไขเล่มต่อไปที่สามารถนำแสงสว่างสู่สังคมได้ หรือพอทุกคนสำเร็จการศึกษาจากสถาบันแห่งนี้แล้วสามารถเป็นบัณฑิตที่รู้ว่า หน้าที่ต่อไปคืออะไร อีกทั้งสามารถเป็นบัณฑิตที่สามารถตอบอัลลอฮอย่างสบายใจว่า “ฉันทำหน้าที่สุดความสามารถแล้วค่ะ ผมทำหน้าที่สุดความสามารถแล้วครับ” นี้คือเหตุผลที่ผมอยากจะเรียนให้ทางคณะกรรมการองค์บริหารนักศึกษา (มุสลิมะฮฺ) ทราบ
ถ้าเรามองย้อนกลับไปเมื่อสิบหรือยี่สิบปีก่อน ทุกคนอาจมองว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้สำหรับคนที่พูดว่าฉันจะก่อตั้งสถาบันความรู้ที่ใหญ่ที่สุด นั่นก็คือ “มหาวิทยาลัย” หรือผมจะสร้างมหาวิทยาลัยที่มีชื่อว่า “อิสลาม” ในพื้นที่ที่ถูกมองว่า การศึกษาอยู่ในระดับท้ายๆของประเทศไทย อย่าง จังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาส หรือเป็นที่รู้จักในนาม สามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั่นเอง ถึงแม้คนนั้นจะรวยล้นฟ้าหรือมีเงินมากแค่ไหน ผมเชื่อเหลือเกินครับว่า การที่จะก่อตั้งสถาบันแหล่งความรู้ที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาสถาบันการศึกษาต่างๆนั้น เป็นเรื่องไม่ใช่ง่ายครับ หรือถ้าพูดอย่างตรงไปตรงมาว่า ในอดีตประชาชาติมุสลิมในพื้นที่แห่งนี้ไม่เคยที่จะได้สัมผัสสถาบันที่มีชื่อว่า “มหาวิทยาลัยอิสลาม”…
ยี่สิบปีผ่านไป ใครจะไปเชื่อครับว่า มีผู้รู้กลุ่มหนึ่งสามารถที่จะสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ในพื้นที่แห่งนี้ได้ สามารถที่จะทำสิ่งที่ทุกคนไม่กล้าแม้กระทั่งที่จะฝันหรือคิด เพราะว่าเป็นความฝันที่เรียกว่า ห่างไกลเหลือเกินสำหรับคนในสามจังหวัดที่จะเอื้อมถึง คนกลุ่มนี้สามารถที่จะสร้างและเติมเต็มความฝันของคนอีกหลายๆคน คนกลุ่มนี้สามารถที่จะทำให้สังคมแห่งนี้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ เป็นสังคมที่มีความรู้ที่ถูกต้อง พวกเขาสามารถจุดเทียนไขที่กำลังจะดับในไม่กี่วันข้างหน้า ให้เปล่งประกายและสามารถส่องแสงให้แก่ประชาชาติที่นี่อีกครั้ง คนกลุ่มนี้สามารถที่สร้างมหาวิทยาลัย (เอกชน) ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยที่ไม่มีนายทุนที่มีแหล่งทุนมหาศาล และยิ่งไปกว่านั้น คนกลุ่มนี้สามารถที่จะสร้างมหาวิทยาลัยที่มีชื่อว่า “อิสลาม” ซึ่งเปิดการเรียนการสอนในหลักสูตรแบบบูรณาการ (หรือ Islamization; เป็นหลักสูตรที่สอนควบคู่อัลกรุอานและวิถีชีวิตของท่านนบี หรืออัลซุนนะห์)
นี่คือบทบาทที่คนกลุ่มหนึ่งมีต่อสังคมแห่งนี้ ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นพร้อมที่จะสืบทอดบทบาทเหล่านี้ให้แก่ชนรุ่นหลัง ส่วนหน้าที่ของชนรุ่นหลังที่จะต้องทำก็คือ จะทำอย่างไรให้มหาวิทยาลัยอิสลามแห่งนี้สามารถที่จะยืนหยัดอยู่ควบคู่และพร้อมที่จะรับใช้สังคมให้ได้นานที่สุด (เท่าที่อัลลอฮทรงประสงค์) (รับใช้สังคม ในที่นี่หมายความว่า มหาวิทยาลัยสามารถที่จะผลิตบัณฑิตอันพึงประสงค์ ที่สามารถนำแสงสว่างสู่สังคมต่อไป)
ปัจจุบันมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา สามารถยืนอยู่ท่ามกลางสังคมแห่งนี้ได้อย่างสง่างามตระการตา ผู้คนส่วนใหญ่เล็งเห็นถึงจุดประสงค์ของมหาวิทยาลัย พวกเขาอยากที่จะส่งลูกหลานเข้ามาศึกษาต่อที่นี่ เพราะว่านี่คือมหาวิทยาลัยอิสลามแห่งแรกของประเทศไทย ที่เปิดการเรียนการสอนในรูปแบบบูรณาการ และประสงค์ให้บันฑิตที่สำเร็จการศึกษามีคุณธรรมและจริยธรรมจริงๆ ไม่ใช่แค่คำพูดหรือคำเขียน(ข้อความ)อยู่ในกระดาษเท่านั้น
ดังนั้น เราในฐานะนักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งนี้ ถ้าหากเราไม่มีความสามารถมากพอที่จะสืบทอดหน้าที่เหล่านั้น ที่จะนำพามหาวิทยาลัยแห่งนี้ก้าวสู่ทศวรรษใหม่แห่งการศึกษาแบบอิสลามในอนาคตอันใกล้นี้ อย่างน้อยขอให้เรามีความตั้งใจที่ใช้เวทีแห่งนี้เป็นเวทีแห่งการวางแผนชีวิตของเรา มีความตั้งใจที่จะทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นได้รับการวางแผน ไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นโดยความบังเอิญโดยที่เราไม่ตั้งใจมาก่อนเลย จากที่เราไม่เคยแม้กระทั่งคิดที่จะวางแผน ให้ชีวิตของเราเป็นระบบที่สามารถนำประโยชน์แก่ตัวเรา ครอบครัวและสังคม (อิสลาม) พร้อมๆกัน พี่น้องครับ มาเถอะครับ มาทำให้ชีวิตของเรา และเวลาทุกๆวินาทีของเราให้เป็นประโยชน์มากที่สุด เพราะตลอดระยะเวลาอย่างน้อยสี่ปีที่เราอยู่ที่นี่เป็นระยะเวลาสั้นๆเท่านั้นเองครับ (ไม่เชื่อก็ลองถามบังๆหรือกะๆที่อยู่ปีสี่ว่า สี่ปีเป็นเวลายาวนานหรือเปล่า อย่างไรก็ตาม สำหรับน้องๆที่อยู่ปีหนึ่งแน่นอนครับ ผมเชื่อเหลือเกินครับว่า จะรู้สึกนาน แต่ถ้าถามบังๆกะๆที่อยู่ปีสี่ ผมมั่นใจที่จะพูดว่า พวกเขาจะตอบว่า “สี่ปีไม่นานหรอก อยากจะทำอะไรมากกว่านี้)
วันนี้ ผมเชื่อเหลือเกินครับว่าเป็นวันที่ทุกคนต่างก็มีเป้าหมายเดียว มีความตั้งใจเดียวกัน มีเจตนารมณ์เดียวกัน นั่นก็คือ ทุกคนต่างก็มีความตั้งใจที่จะมีแผนการหรือแผนที่ที่จะเดินบนเส้นทางการศึกษาในครั้งนี้ให้รอบคอบที่สุด เป็นแผนที่ที่จะทำให้พวกเราประหยัดเวลาที่จะไปถึงจุดมุ่งหมายได้อย่างรวดเร็ว... แต่ผมมองว่าถ้าทุกคนมีความตั้งใจมากขนาดนี้ ควรที่จะต้องรู้ถึง “อะไรคือความหมายของชีวิต” และ “อะไรคือการวางแผน”
แน่นอนครับถ้าผมถามว่า “อะไรคือความหมายของชีวิต” แน่นอนทุกคนต้องมีนิยามของตัวเองแตกต่างกันไป...บางคนอาจให้ความหมายของชีวิตในด้านการปฎิบัติภาระกิจหน้าที่... บางคนจะให้นิยามของชีวิตไปในด้านการดำรงชีวิต เหล่านี้เป็นต้น แน่นอนครับการให้คำนิยามในรูปแบนั้นมันไม่ผิด แต่ส่วนตัวผมแล้ว ผมจะให้นิยามของคำว่า “ชีวิต” คือการ “ดิ้นรน” ดิ้นรนเพื่ออะไรครับ เพื่อที่จะค้นหาเป้าหมาย ถ้าเรารู้เป้าหมายของชีวิต เราจะมีความง่ายดายที่จะวางแผนเพื่อที่จะไปสู่เป้าหมาย ที่นี้พอเรารู้อะไรคือความหมายของชีวิตแล้ว เราต้องรู้เป้าหมายของการวางแผนด้วย ผมขอให้ความหมายของการวางแผน ก็คือดังนี้ 1. เพื่อที่จะทำให้เราไปถึงจุดหมายปลายทางโดยใช้เวลาน้อยที่สุด 2. เพื่อที่จะทำให้เราสูญเสียพละกำลังน้อยที่สุด 3. เพื่อที่จะเตือนสติของเราอยู่ตลอดเวลาว่าเรากำลังปฎิบัติภาระกิจอยู่ เหล่านี้เป็นต้น
การที่เราจะวางแผน เราต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน เพราะถ้าเราไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน ถามว่าเราจะวางแผนทำไมครับ เช่นเดียวกับการใช้ชีวิตอยู่บนโลกนี้ ทุกศาสานาสอนให้ทุกคนมีเป้าหมาย นั้นก็คือ “สวรรค์” แต่ถามว่าวิถีชีวิตแบบไหนที่เที่ยงตรง ที่สามารถนำพาเราไปถึงสวรรค์ได้ (คำตอบนี้แน่นอนครับว่า วิถีที่มีชื่อว่า “อิสลาม”)
การใช้ชีวิตในสถานศึกษา บางคนอาจคิดว่า ตลอดระยะเวลาสี่ปีนั้น ฉันจะเรียนให้เต็มที่ ฉันจะไม่สนใจเรื่องกิจกรรมเลย เพราะฉันคิดว่ากิจกรรมไม่ให้ความรู้อะไรเลย นอกจากเสียเวลาแล้ว มันทำให้ฉันเสียการเรียนอีกด้วย บางก็คิดว่า ฉันจะร่วมและจัดกิจกรรมให้เยอะที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะกิจกรรมสามารถสร้างคนให้เป็นคนได้ กิจกรรมสามารถที่จะสอนให้ฉันใช้ชีวิตในสังคมอย่างมีจุดยืน หรือบางคนคิดว่าฉันจะเอาทั้งสอง ฉันจะเรียนกับทำกิจกรรมในเวลาเดียวกัน
โดยส่วนตัวแล้ว ผมแบ่งเทอมของการศึกษาออกเป็นสองส่วน ช่วงแรก (ปี 1และ ปี 2) ช่วงที่สอง (ปี 3 และ ปี 4) โดยที่ช่วงแรก ปี 1 กับ ปี 2 เทอมหนึ่ง ผมจะเน้นเรื่องการเรียน จะให้ความสนใจในการอ่านหนังสือทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นเรื่องศาสนา การเมือง และเรื่องทั่วไป เพราะผมคิดว่าในช่วงนี้น้ำในแก้วของเรานั้นยังต้องการการเติมอีกเยอะ ในช่วงนี้เราไม่สามารถที่แบ่งปันน้ำในแก้วให้คนอื่นได้ เพราะถ้าเราแบ่งให้คนอื่นเราอาจจะขาดแคลนน้ำได้ เราควรที่จะกักเก็บน้ำให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ (ไม่ต้องให้มันเต็ม) เพื่อที่จะทำให้เรามีสติปัญญาที่ดีที่สามารถคิดในทุกๆแง่มุมได้ ส่วนช่วงที่สอง ปี 2 เทอมสองกับ ปี 3 ถึงเวลาที่เราควรแบ่งปันน้ำ (ที่สะอาด) ที่เกือบเต็มให้คนอื่น เราควรที่จะพาแก้วใบนี้ไปทุกที่เท่าที่เราสามารถ ในช่วงนี้เราควรที่จะดูว่าคนแบบไหนที่เราควรให้ คนแบบไหนที่ขาดแคลนน้ำจริงๆ เหตุผลก็คือ เราจะเป็นหมอที่เข้าหาคนไข้ ที่รักษาคนไข้อย่างทุกต้อง ไม่ใช่เป็นหมอที่หนีออกห่างจากคนไข้ อย่างที่เห็นปัจจุบัน
พอ ปี 4 ช่วงที่สองนั้น เราควรที่จะคิดใตร่ตรองอีกครั้งว่า น้ำในแก้วใบเล็กๆใบนี้ มีปริมาณน้ำมากพอหรือยัง เพื่อที่จะออกสู่สนามของการแจกจ่ายอันยาวไกล ที่นั้นจะไม่มีสถานที่สำหรับเติมน้ำ ที่สำคัญเราควรที่จะมีการวางแผนให้ดีว่า เราจะแจกจ่ายน้ำที่มีอยู่ในแก้วอย่างไรให้ทั่วถึง ในช่วงนี้เราจะมีเวลาไม่มากในการคิดใตร่ตรอง เราควรที่จะใช้เวลาในช่วงนี้ให้เกิดประโยชน์ให้มากที่สุด
นี้คือสภาพการณ์ในช่วงที่เราใช้ชีวิตในรั้วสถาบันที่มีชื่อว่า มหาวิทยาลัย (โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยแห่งความหวังของสังคม อย่างมหาวิทยาลัยอิสลาม) แต่แผนการที่ผมได้กล่าวข้างต้นนั้น เป็นความคิดส่วนตัวเท่านั้น ซึ่งแน่นอนครับว่า ทุกคนมีการวางแผนที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละคน
ในรั้วมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ผมแปลกใจเหลือเกินนะครับว่า ทำไมทุกคนต่างมองคนคนหนึ่งในมิติของ “ความเก่ง” พอเขาเรียนได้เกรดดีๆ เขาจะได้รับการขนานนาม “เป็นคนเก่ง” ทำไมทุกคนไม่มองในมิติของ “หน้าที่” (อมานะฮฺ) ครับ ในมิติของอมานะฮฺที่ได้รับมอบหมาย ถ้าเรามองในมิตินี้ เราต่างก็มีสมาธิและเวลาในการที่จะทำหน้าที่ของตัวเองให้ถึงจุดที่เรียกว่า “ดีที่สุด” เนื่องจากว่าทุกคนมีหน้าที่ที่แตกต่างและมีความถนัดที่แตกต่างกันไป ดังนั้นผมคิดว่า ถ้าเราคิดอย่างนี้ เราต่างมีโอกาสที่จะเป็นคนเก่งได้ พอทุกคนเป็นคนเก่ง ทุกคนต่างก็สามารถเป็นที่หนึ่งได้โดยที่ไม่ต้องไปแข่งขันกับคนอื่น นอกจากนี้ถ้าทุกคนคิดในมิตินี้เราต่างก็มีเวลาที่จะคิดถึงสถานที่ที่ทุกคนมุ่งหน้า นั่นก็คือ “อาคีเราะฮฺ”
ถ้าหากการมาของเราที่นี่เป็นความตั้งใจที่จะมองหาคนที่สมบูรณ์แบบทุกอย่าง ผมบอกได้ว่าไม่มีครับ (ไม่มีมนุษย์คนไหนสมบูรณ์แบบสักทุกอย่าง นอกจากท่านนบีของเรา) ผมเชื่อครับว่า การที่ทุกคนมาที่นี่ ทุกคนต่างก็มีความตั้งใจที่จะมาเพื่อขัดเกลาตัวเอง ฉะนั้นทางที่ดีที่สุดสำหรับเราในฐานะนักศึกษาก็คือ เรามาร่วมสร้างบรรยากาศของการตักเตือนซึ่งกันและกันเถอะครับ โดยการเรียนรู้ผ่านระบบอาลาเกาะฮ์ (ผมกล้าที่จะพูดว่า ไม่มีมหาวิทยาลัยในประเทศไทยที่บรรจุอาลากอฮ์ในหลักสูตร นี้คือจุดเด่นที่แตกต่างที่เรามี) เพื่อที่จะสร้างกลุ่มชนที่มีความรู้คู่คุณธรรมและจริยธรรม สู่การเกิดขึ้นของความเป็นปึกแผ่นของประชาชาติต่อไป
เวลานี้เรากำลังเขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้แก่ตัวเรา เรากำลังเขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้แก่ประชาชาติที่นี่แล้ว เบื้องหลังของความสำเร็จทั้งหลายคือความทุ่มเทของเราทุกคน นับจากนี้เราต่างยืนอยู่ที่จุดหนึ่ง ซึ่งเป็นจุดที่มีเกรียติที่สุดในทศวรรษ เราต่างยืนอยู่ ณ จุดนี้เพื่อที่จะก้าวไปที่จุดที่สองของทศวรรษแห่งการศึกษา เราในฐานะปัญญาชนมุสลิม นับจากนี้ไปเรากำลังก้าวไปสู่การเขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของเรา เป็นประวัติศาสตร์ที่เราจะเขียนขึ้นด้วยมือของเรา เป็นประวัติศาสตร์ที่จะลบคำสบประมาทต่างๆ
ในเมื่อมหาวิทยาลัยแห่งนี้ มีสาขาวิชาที่จำเป็นต่อจิตวิญญาณของสังคมแห่งนี้แล้ว ถามว่า เรา (นักศึกษา) พร้อมมากน้อยแค่ไหนที่จะออกสู่โลกภายนอก เราพร้อมมากน้อยแค่ไหนที่จะเผชิญกับทุกสิ่งทุกอย่างในโลกแห่งความเป็นจริง ซึ่งแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับโลกจำลองในรั้วมหาวิทยาลัย นับจากนี้ไปเราต่างก็จะเป็นสินค้าใหม่ที่ถูกผลิตออกมา เพื่อรับใช้และซ่อมแซมโครงสร้างที่สึกหรอของสังคมต่อไป โดยผ่านกระบวนการต่างๆอย่างละเอียด โดยเฉพาะในอนาคตอันใกล้นี้ประเทศในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้จะรวมเป็น “ประชาเศรษฐกิจอาเซียน” พอถึงเวลานั้นจะเกิดอะไรขึ้นกับสังคมของเรา? เราสามารถที่ฉวยจะโอกาสนี้ในการเผยแผ่อิสลามมากน้อยเพียงใด?...
สำหรับการเพิ่งเกิดของมหาวิทยาลัยอิสลาม ผมควรเรียกความสำเร็จหรือความล้มเหลวความ(ล่าช้า)ของประชาชาติที่นี่ดี เพราะว่าถ้าเราเทียบกับการเข้ามาของอิสลามในสามจังหวัดเป็นเวลาร้อยๆปีที่แล้ว แต่เราแค่มีสถาบันศาสนาที่เราภูมิใจเหลือเกินเป็นร้อยๆแห่งเท่านั้น ประชาชาติที่นี่ไม่เคยได้สัมผัสมหาวิทยาลัยเลย… อย่างไรก็ดี ที่แน่ๆ การก่อตั้งมหาวิทยาลัยอิสลามในครั้งนี้ เปรียบเสมือน แสงสว่างปลายอุโมงค์ของประชาชาติ เพื่อใช้ในการก้าวเดินไปสู่ทศวรรษใหม่ของความเจริญทางการศึกษาอีกครั้งอย่างในอดีต (อัลฮัมดุลิลลาฮฺ)
ด้วยเหตุนี้ ผมขอเชิญชวนตัวผม เพื่อนๆนักศึกษา รวมถึงบุคคลากรที่เกี่ยวข้อง มาเถอะครับมาร่วมกันสร้างมหาวิทยาลัยแห่งนี้ โดยผ่านการทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด มาร่วมใช้เวทีแห่งนี้ให้เป็นโอกาาสำหรับเราในการที่จะวางแผนชีวิตของเรา วางแผนอนาคตของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ และวางแผนชีวิตของประชาชาติมุสลิมที่นี่ เพื่อว่าเราจะได้สืบทอดหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่นี้จากคนกลุ่มหนึ่งที่ได้เขียนประวัติศาสตร์หน้าแรก และเราจะได้เขียนประวัติศาสตร์ให้อิสลามหน้าที่สองและต่อไป พร้อมๆกัน อินชาอัลลอฮฺ
ถึงแม้หลายครั้ง เรารู้สึกท้อแท้กับสิ่งที่ท้าทายและรู้สึกหมดกำลังใจเมื่อประสบปัญหาต่างๆ แต่เราจะบอกให้รู้ว่า เราภูมิใจและดีใจที่ได้อยู่ ที่ได้ใช้ชีวิตร่วมกับเธอนะ มอย. เพราะมีเธอวันนี้ เราได้มีโอกาสทำความรู้จักกับคนอีกหลายๆคน เพราะมีเธอวันนี้ เราได้สัมผัสกับความสุขที่แท้จริงของการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องร่วมซาฮาดะฮ์ เพราะมีเธอวันนี้ เราได้ลิ้มรสถึงความขมของอุปสรรคต่างๆที่ได้ผ่านเข้ามาในชีวิตของเรา เพราะมีเธอวันนี้ เราได้ละหมาดห้าเวลาพร้อมๆกันที่มัสยิด (สำหรับมุสลิมีน) เพราะมีเธอวันนี้ เราได้สัมผัสบรรยากาศตอนเช้าๆที่มีหมอกเป็นเครื่องประดับ เพราะมีเธอวันนี้ เราได้เติมเต็มภาระกิจของเรา เพราะมีเธอวันนี้ อุปสรรคสามารถหล่อหลอมเราให้เป็นคนที่เข้มแข็ง เพราะมีเธอวันนี้ เราได้ออกกำลังกายพร้อมๆกัน เพราะมีเธอวันนี้ เราได้เรียนรู้ถึงมิตรภาพของการอยู่ร่วมกัน เพราะมีเธอวันนี้ เราได้รู้ถึงความเหงาเมื่อต้องอยู่คนเดียว เพราะมีเธอวันนี้ เราได้รู้ถึงศักยภาพของเรา เพราะมีเธอวันนี้ เราได้รู้ว่าเมื่อเราจับมือเดินพร้อมๆแล้วกันเราจะเข้มแข็ง แต่เมื่อเราเดินปล่อยมือเราจะอ่อนแอทันที
ต่อไปนี้เราจะเป็นอดีตสำหรับเธอ ส่วนเธอก็คงจะเหงาที่ไม่มีเราอยู่เคียงข้าง ออ! ไม่เป็นไร เราเกิดมาเพื่อรับใช้ศาสนาของพระองค์อัลลอฮฺ ไม่เป็นไร เดียวเธอก็คงมีเพื่อนใหม่มาแทนที่เรา เธอสัญญาไหมครับว่า เธอจะทำหน้าที่ของเธอให้ดีที่สุด เธอต้องดูแลเพื่อนใหม่ให้ดีเหมือนกับเธอดูแลเรา ส่วนเรา เราสัญญาว่า เราจะทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด เราจะสร้างการศึกษาที่ควบคู่กับคุณธรรมและจริยธรรมในสังคมแห่งนี้ให้ได้อย่างที่เธอตั้งใจ เราสัญญาเราจะไม่ลืมเธอ เราจะจดจำบรรยากาศของวันวานตลอดไป…ลาก่อนนะ แล้วค่อยเจอกันใหม่ อินชาอัลลอฮฺ
No comments:
Post a Comment